วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สิงหนวัติกุมารโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าเทวกาล แห่งนครไทยเทศ หรือเมืองราชคฤห์ พร้อมด้วยพระขนิษฐาได้รับพระราชทานข้าวของ สมบัติ รี้พลมนตรีคนครัวแสนหนึ่ง แล้วก็เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ เมื่อพ.ศ. 430 ข้ามแม่น้ำสาระพู (แม่น้ำคงคา หรือ สาละวิน ) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางมาได้ 4 เดือน ก็ถึงบริเวณที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 5,000 วา บริเวณนี้เป็นแคว้นเมืองสุวรรณโคมคำมาก่อน ปีพ.ศ. 431 มีพญานาคชื่อว่าพันธุนาคราช เนรมิตตนเป็นพราหมณ์ เข้ามาพบเจ้าสิงหนวัติกุมารและกล่าวถามว่า ท่านเป็นลูกใคร มาจากเมืองไหน มาด้วยเหตุอันใด เจ้าสิงหนวัติกุมารกล่าวว่า เราเป็นลูกกษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่าเทวกาล เจ้าเมืองราชคฤห์ มาที่นี่เพื่อแสวงหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ นาคพราหมณ์ผู้นั้นจึงแนะนำให้เจ้าสิงหนวัติกุมาร ตั้งเมืองอยู่ที่นี่ บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ข้าศึกใหญ่ น้อยก็เข้ามาตีได้ยาก และขอให้มีเมตตาบารมีแก่คนและสัตว์ทั้งหลายเทอญ เจ้าสิงหนวัติกุมาร ได้ไต่ถามนาคพราหมณ์ผู้นั้น ได้ความว่า ชื่อพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาอาณาบริเวณนี้มาตั้งแต่ต้น แล้วก็ลาจากไป เจ้าสิงหนวัติกุมารใช้ให้บ่าว 7 คนตามไปดู ไปได้ไกล 1,000 วา พราหมณ์ผู้นั้นก็หายไป
ครั้นถึงตอนกลางคืน นาคพราหมณ์ผู้นั้นก็กลายร่างเป็นพญานาคแทรกตัวลงดิน แล้วยกขึ้นเป็นขอบเขตเมือง กว้างด้านละ3,000 วา แล้วก็กลับไปยังที่อยู่ของตน รุ่งเช้าเมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมาร เห็นเช่นนั้นก็มีใจชื่นชม ยินดี จึงให้พราหมณ์อาจารย์ผู้ติดตามมาทำนายดู พราหมณ์อาจารย์บอกว่า เป็นพญานาคแสดงอิทธิฤทธิ์สร้างขึ้น หลังจากที่ได้สร้างเมืองเสร็จแล้ว พราหมณ์อาจารย์จึงนำเอาชื่อพญานาคพันธุและเจ้าสิงหนวัติกุมารมารวมกันเป็นชื่อเมืองว่า นาคพันธุสิงหนวัตินคร
เจ้าสิงหนวัติกุมารได้เป็นเจ้าเมืองนาคพันธุสิงหนวัตินครแล้ว ก็ได้แผ่บารมีรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ จากนั้นอีก 3 ปี จึงยกทัพไปปราบขอมและได้ชัยชนะต่อพระยาขอมเมืองอุโมงคเสลานคร หลังจากตั้งเมืองได้ 5 ปี ท่านก็ปราบได้ล้านนาไทยทั้งมวล อมาตย์มนตรี และพราหมณ์ทั้งหลาย ก็พร้อมกันอุสสาภิเษกเจ้าสิงหนวัติกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์ มีชื่อว่า “เจ้าพระยาสิงหนวัติราชกษัตริย์เจ้า “ตั้งแต่นั้นมา ถัดจากรัชสมัยของเจ้าสิงหนวัติแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมา คือ โอรสของ
พระเจ้าสิงหนวัติ คือ พระยาพันธนติ ถัดจากพระยาพันธนติ ก็คือ พระยาอชุตราช และเมืองนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมือง โยนกนคร ไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน พระยาอชุตราชขอนางปทุมวดีจากกัมมโลฤาษี มาเป็นมเหสี ยุคนี้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยกู่แก้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระมังรายนราช โอรสชื่อไชยนารายณ์ไปตั้งเมืองใหม่ ชื่อไชยนารายณ์เมืองมูล เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสนก็มีกษัตริย์ปกครองต่อๆ กันมาจนถึง พ.ศ.1469 จึงเสียแก่พระยาขอมแห่งเมืองอุโมงค์เสลานคร
กษัตริย์ของเมืองโยนกฯถูกขับให้ไปอยู่ที่เวียงสี่ทวง ที่นั้นพระองค์พังมีโอรสที่เก่งกล้า เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 16 ปี ก็เสนอให้พระบิดาแข็งข้อต่อขอม และตัวเองเป็นแม่ทัพเข้าต่อสู้กับพวกขอม และสามารถขับไล่ขอมไปทางใต้จนถึงเขตเมืองลวรัฐ พระองค์พังได้กลับเป็นกษัตริย์ในโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสนอีกครั้งหนึ่ง ในปีพ.ศ.1480 พรหมกุมารต่อมาได้ตั้งเวียงไชยปราการ และเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้ เมื่อสิ้นพระองค์พรหมราชแล้วโอรส คือพระไชยสิริก็ได้ครองเมืองต่อมา เมื่อถูกทัพมอญคุกคามเข้ามา พระองค์ไชยสิริก็พาชาวเมืองอพยพ เมื่อ พ.ศ.1547 ลงไปทางใต้และไปตั้งเมืองอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ตำนานสิงหนวัติกุมารยุติลง เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินครก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน มีกษัตริย์เสวยเมืองต่อกันมา
จนถึงสมัยของพระองค์มหาไชยชนะ และในปี พ.ศ.1558 ชาวเมืองจับปลาตะเพียนเผือกยักษ์ (ควรเป็นปลาไหลเผือกยักษ์) จากแม่น้ำกกแล้วแบ่งกันกินทั่วเมือง และในคืนนั้นเมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแสนก็ล่มสลายลง กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ขุนพันนาและนายบ้านทั้งปวงพร้อมใจกันเลือกนายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนลัง เป็นหัวหน้าของชนกลุ่มนั้นช่วยกันสร้างเวียงปรึกษาขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก และอยู่ทางตะวันออกของเวียงโยนกเดิม นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์กษัตริย์


ที่มา:http://www.vcharkarn.com/vblog/36503/40

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับวันลองกระทง

เพื่อนๆ วันนี้ก็ลอยกระทงแล้วเรามีเกร็ดเล็กๆน้อยๆมาฝาก

ตำนานและความเชื่อจากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวน/หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไปส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา ๓ เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรามักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)

ที่มา:http://www.dek-d.com/board/view.php?id=977039

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ยาวไปนิดนะเพื่อนๆ

ท่ามกลางเมืองที่แสนกว้างใหญ่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายมีเด็กหญิงคนหนึ่ง ชื่อ เด็กหญิงความรักทุกๆวัน เด็กหญิงความรักจะเดินทางไปที่ต่างๆตามลำพังด้วยสองเท้าเปลือยเปล่า โดยไม่สนว่าพื้นที่ที่เธอเหยียบจะสกปรกหรือสะอาด หรือร้อนระอุ หรือชื้นแฉะ หรือเต็มไปด้วยกิ่งไม้เศษแก้วต่างๆ ที่จะทิ่มแทงเท้าอันบอบบางของเธอเด็กหญิงความรักยังมีความสุขกับการเดินทางด้วยเท้าเปล่าเธอยังคงเดิน เดิน และเดินไปเรื่อยๆ อย่างเดียวดาย...แต่แล้ววันหนึ่งระหว่างเดินทางตามปกติของเด็กหญิงความรักเธอรู้สึกเจ็บปวดที่เท้าทั้งสองข้างจนไม่อยากเดินทางต่อไปความรู้สึกเหงา และ ว้าเหว่ ก็เข้ามาหาเธอทันทีทันใดนั้นเอง เด็กหญิงความรักก็ได้พบกับ "นายรองเท้า"ซึ่งเป็นรองเท้าเก่าๆ คู่หนึ่ง ไม่ได้สะดุดตาอะไรนายรองเท้าก็ทักเด็กหญิงความรักอย่างเป็นมิตร"เท้าเธอคงจะเจ็บมาก ถ้าไม่รังเกียจ ให้ฉันเดินทางไปพร้อมๆกับเธอได้มั้ย ฉันสัญญาว่าจะปกป้องเธอเอง"เด็กหญิงความรักได้ยินเพียงเท่านั้น ความรู้สึกอ้างว้างเดียวดายที่เคยมี ก็มลายหายไปทันทีเธอจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปในทุกที่พร้อมกับนายรองเท้าแต่ต่อมาไม่นาน เด็กหญิงความรักก็ได้พบกับรองเท้าคู่ใหม่โดยบังเอิญ รองเท้าคู่นี้แตกต่างจากนายรองเท้ามากนักเพราะเขาทั้งใหม่ สะอาด สีสันสะดุดตา และดีไซน์นำสมัยอีกทั้งยังเป็นรองเท้าแบรนด์เนมที่มีราคาแพงอีกด้วยเด็กหญิงความรักจึงตัดสินใจที่จะทิ้ง "นายรองเท้า" แม้ว่าเขาจะสวมใส่สบาย และพร้อมที่จะก้าวเดินไปกับเธอทุกที่เด็กหญิงความรักได้สวมรองเท้าคู่ใหม่ที่แสนจะ PERFECT ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่พอดีกับเท้าเธอเพียงเพื่อต้องการให้ตนเองดูดีขึ้นในสายตาของผู้อื่นด.ญ.ความรักถึงกับยอมให้รองเท้ากัดจนเธอเจ็บปวดทรมานแต่เธอก็อดทน และพยายามเดินไปข้างหน้าต่อไปทั้งที่ในใจเธอนั้นไม่มีความสุขเลยเพียงไม่กี่วัน ด.ญ.ความรักก็รู้ดีว่าเธอกับรองเท้าคู่ใหม่นั้น เข้ากันไม่ได้เลยเพราะหลายครั้งที่เขาทำให้เธอเสียใจเขาไม่พร้อมจะเดินทางไปกับเธอในทุกๆที่ เขากลัวการลำบากเขากลัวการถูกแปดเปื้อนจากพื้นดิน โคลนที่สกปรกด.ญ.ความรักกลับมานั่งทบทวนดูเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาเธอพบว่าระหว่างเธอกับรองเท้าคู่ใหม่นั้น ยังขาดความเข้าใจทำให้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง ทั้งคู่ต้องพบกับปัญหาเสมอถึงแม้ว่าใครๆต่างก็พากันอิจฉาเธอที่ได้ครอบครองรองเท้าใหม่แต่เธอ...ก็เลือกที่จะถอดออก และกลับมาเดินเท้าเปล่าดังเดิมมันอาจจะเจ็บเท้าบ้างในบางครั้ง แต่เธอก็สบายใจเพราะเธอสามารถเดินทางไปได้ทุกๆที่ ที่เธอต้องการด.ญ.ความรัก เดินทางลำพังมาเป็นเวลานานพอสมควรเธอเริ่มรู้สึกกลัว เหงา และโดดเดี่ยว เธออยากมีเพื่อนสักคนที่เข้าใจเธอ และพร้อมจะเดินทางไปกับเธอในทุกๆที่ทันใดนั้นเอง เธอก็ได้ยินเสียงอันคุ้นเคยตะโกนถามเธอว่า"อยากมีเพื่อนร่วมทางสักคนมั้ยคร้าบ"ใช่แล้ว ! มันเป็นเสียงของเขา .... นายรองเท้า .....ด.ญ.ความรักดีใจมาก จนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้เพราะเธอคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้เจอเขาอีกหลังจากที่เธอได้ตัดสินใจทิ้งเขาไปในวันนั้นนายรองเท้ายังคงพูดประโยคเดิมๆ กับเธออีกครั้งว่า"ถ้าไม่รังเกียจ ให้ฉันเดินทางไปพร้อมๆกับเธอได้มั้ยฉันสัญญาว่าจะปกป้องเธอเอง"ด.ญ.ความรัก ยิ้มและตอบกลับไปว่า"ขอบใจนะ...ฉันสัญญาว่าเราจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป"นายรองเท้าตอบกลับอย่างอ่อนโยนว่า"เธอไม่จำเป็นต้องสัญญาหรอก เพราะเมื่อไหร่ที่เธอรู้สึกเบื่อและอยากเป็นอิสระจากฉัน ฉันก็พร้อมที่จะให้เธอไป"ด.ญ.ความรักรู้ในทันทีว่า "นี่แหละคือความเข้าใจ" ที่เธอรอคอยมานานแสนนาน แต่เธอเจอแล้ว และจะดูแลรักษาอย่างดีถึงแม้นายรองเท้าจะเป็นแค่รองเท้าธรรมดาๆ คู่หนึ่งไม่ได้น่าชื่นชมในสายตาของคนอื่นแต่สำหรับ ด.ญ.ความรักแล้ว เขาสำคัญต่อเธอมากเขาเข้าใจและห่วงใยเธอ เธอรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับเขาแค่นั้นมันก็เพียงพอแล้วสำหรับเธอตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาด.ญ.ความรักและนายรองเท้าก็อยู่เคียงข้างกันตลอดไปในบางครั้ง เราอาจจะเห็น ด.ญ.ความรักไม่ได้ใส่รองเท้าแต่อย่าเพิ่งตกใจ !! ลองมองดูในมือเธอสินายรองเท้าอาจจะอยู่ในมือเธอก็ได้เขาอาจต้องการให้เท้าของเธอเป็นอิสระจากการผูกมัดบ้างหรือเธออาจจะซักรองเท้าแล้วแห้งไม่ทันก็ได้ อย่าคิดมาก !!

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. คนที่ดีอาจไม่ใช่ และคนที่ใช่อาจไม่ดี
2. คนที่ใช่สำหรับคนอื่น อาจไม่ใช่สำหรับเราส่วนคนที่ใช่สำหรับเรา อาจไม่ใช่สำหรับคนอื่น
3. รักแท้มักมาถูกที่ถูกเวลาเสมอ
4. ความรักไม่ใช่การผูกมัด เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
5. สิ่งที่ความรักต้องการมากที่สุด คือ ความเข้าใจ

ที่มา:http://www.dek-d.com/content/view.php?id=1501